Special Interview – Dr. Gallayanee Yaoyueyong : 

บทสัมภาษณ์พิเศษ – ดร.ตี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กัลยาณี เยาว์ยืนยง

บทสัมภาษณ์พิเศษ - ดร.ตี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กัลยาณี เยาว์ยืนยง 

          นับว่าเป็นเกียรติอย่างยิ่งนะคะที่ได้สัมภาษณ์ดร.ตี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กัลยาณี เยาว์ยืนยง ผู้เชี่ยวชาญด้าน Fashion Merchandising ณ University of Southern Mississippi ดร.ตี้อาศัยอยู่ที่อเมริกามาเป็นเวลา 13 ปีแล้วค่ะ เริ่มตั้งแต่การเป็นนักเรียนปริญญาโท, ปริญญาเอก จนกระทั่งตอนนี้เป็นอาจารย์คนไทยที่สอนนักเรียนมหาวิทยาลัยที่ Mississippi น่าภูมิใจแทนคนไทยมากๆค่ะ เราได้แง่คิดและมุมมองของคนไทยที่มีมากด้วยความสามารถในหลายๆเรื่องค่ะ คุยกันสนุกถูกคอเลยทีเดียวและได้แง่คิดต่างๆมากมาย ทั้งนี้ทาง I Study UK ขอนำบางส่วนบางตอนของการณ์สัมภาษณ์ที่ดร.ตี้ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการพัฒนาภาษาอังกฤษมาฝากนะคะ หวังว่าทุกคนจะได้ประโยชน์ไม่มากก็น้อยค่ะ

          ปัญหาของคนไทยส่วนใหญ่คือการที่เราได้ Grammar แน่นมากแต่ทว่าทำไมพูดไม่ได้?? โดยปัญหานี้เกิดขึ้นได้ทุกหนแห่ง แม้กระทั่งนักเรียนไทยที่ไปเรียนต่อต่างประเทศ แรกๆก็จะพบปัญหานี้เช่นกันค่ะ ดร.ตี้แนะนำว่า…อย่าอายฝรั่งค่ะ ถ้าอายก็อดได้วิชาค่ะ ปัญหาหลักๆมาจากการการออกเสียง คนไทยส่วนใหญ่ฟังแต่ภาษาไทย ถ้าเราไม่ได้ยินเสียงภาษาอังกฤษ เราก็จะไม่สามรถผลิตเสียงที่ถูกต้องออกมาได้เลยค่ะ เพราะฉะนั้นต้องใช้การฝึกฝนด้วยค่ะ เมื่อเราไม่คุ้นเสียงและสำเนียงทำให้เราได้ยินแล้วแต่พูดตามไม่ได้

          ตัวอย่างการออกเสียง End sound (เสียงลงท้าย) เวลาออกเสียงไม่ครบทำให้ฝรั่งไม่เข้าใจ เช่นคำว่า Stop – ต้องออกเสียงตัว P ด้านหลังด้วย ตัว S ก็สำคัญค่ะ เพราะความหมายแตกต่างกันทีเดียว เช่น Tables – เรามักจะละเลยการใส่เสียง s ตอนท้าย ควรจะฝึกฝนให้เป็นนิสัยค่ะ อีกสิ่งที่พบบ่อยคือ คนไทยเวลาพูดมักใช้ค่ำว่า that, this (อันนั้น, อันนี้) เยอะมากและฝรั่งจะสับสนว่า ยูหมายความว่าอย่างไร อันนั้นอะไร ตอนนั้นคือตอนไหน ฝรั่งงงจ้า และสิ่งที่ทำให้ฝรั่งงงที่สุดคือการที่เรา stress (การเน้นเสียง) ผิดคำค่ะ กลายเป็นว่าเราผลิตคำใหม่ที่ฝรั่งไม่เข้าใจค่ะ

ดร.ตี้มีเคล็ดไม่ลับเพื่อพัฒนาภาษาอังกฤษฉบับปฏิบัติมาฝากคะ

Writing (การเขียน)

           เทคนิคการพัฒนาการขียนภาษาอังกฤษที่ดี คือต้องอ่านให้มากค่ะ อย่าเน้นอ่านหนังสือตาม Text book (หนังสือเรียน) เท่านั้น เพราะภาษาจะห่างจากความเป็นจริงมาก หนังสือที่ควรอ่าน ควรจะเป็นประเภท Fiction (นิยาย)ค่ะ ที่อยากแนะนำคือ Harry Potter ซึ่งภาษาจะโตตามวัยของเด็ก เล่มแรก ๆ จะอ่านยากมาก แต่เล่มถัดไปจะง่ายขึ้นค่ะ เพราะภาษาในการเขียนจะพัฒนาไปตามบทบาทของตัวละครที่โตขึ้นค่ะ ทั้งนี้ทั้งนั้น การเลือกคนเขียนหนังสือที่เก่งและมีคุณภาพก็เป็นปัจจัยที่สำคัญเช่นกันนะคะ

          อีกเทคนิคที่ดร.ตี้ใช้ คืออ่านของหนังสือแล้วเห็นประโยคที่เราชอบ ก็ลองพิมพ์ไปคิดไป ทำให้เราได้ Sentence Pattern (รูปประโยค)ใหม่ ๆ ด้วย เช่น The more I see you, the more I love you (ยิ่งฉันได้พบคุณ ฉันยิ่งรักคุณ) โอ้ช่างหวานหยดย้อยอะไรเช่นนี้ เทคนิคนี้ช่วยให้เราได้ศึกษารูปแบบประโยคนะคะ ไม่ควรลอกเขาไปทั้งดุ้น แต่เรามาปรับใช้ เช่น เปลี่ยนเป็น The more I exercise, the more I eat (ยิ่งฉันออกกำลังกาย ฉันยิ่งเจริญอาหาร) ซึ่งเป็นประโยคที่ผู้สัมภาษณ์ใช้เป็น Excuse (ข้อแก้ตัว) อิอิ

          Academic writing (การเขียนเชิงวิชาการ) อยากเขียนบทความดี ๆ ก็ต้องอ่านบทความเยอะๆค่ะ อ่านมากได้มากอีกเช่นเดียวกัน แต่จะยากและใช้เวลามากกว่า เพราะว่ามีรูปแบบการเขียนผสมกับ logic (การใช้เหตุผล)ของเรื่องที่เราจะเขียนด้วย นอกจากนี้ จะมีเรื่อง article : a, an, the (คำนำหน้าสรรพนาม) ให้เราปวดหัวเยอะเลยค่ะ (ไว้มีโอกาส I Study UK จะไปสัมภาษณ์คนที่เขียนเก่ง ๆ มาเล่าสู่กันฟังนะคะ ว่าแต่ละท่านมีเทคนิคอย่างไร)

Listening and speaking (การฟังและการพูด)

          ขอนำเทคนิคการพัฒนาการฟังและพูดภาษาอังกฤษมารวมกันเพราะควรฝึกไปพร้อม ๆ กันค่ะ โดยขอแนะนำให้ฟังข่าวมากกว่าการดูหนังค่ะ เพราะว่าเป็นภาษาที่เราได้ฟังจากการอ่านข่าว เป็นภาษาสากลหรือภาษากลางค่ะ รวมไปถึงการรู้ศัพท์ทางการด้วยค่ะ ฝึกโดยฟังแล้วพูดตามค่ะ ผิดถูกอย่าได้แคร์เพราะยิ่งฝึกยิ่งได้ค่ะ

          สำหรับละครหรือหนังจะมีภาษา Slang เยอะ และจะยากกว่ามาก โดยเฉพาะถ้าดูละครท้องถิ่นแล้วเข้าใจแค่บางส่วน เพราะเค้าใช้คำแสลงเยอะมาก อย่าท้อนะคะ ค่อยๆซึมซับไปค่ะ อีกวิธีที่หลายๆคนก็ฝึกกัน คือ การดูหนังที่มี subtitle (คำบรรยาย) แต่ในที่นี่คือเลือกหนังที่มีคำบรรยายเป็นภาษาอังกฤษนะคะ โดยที่รอบแรกตั้งใจฟัง ตั้งใจดูและปิด subtitle ฟังได้บ้างไม่ได้บ้างไม่เป็นไร ส่วนรอบสองให้เปิด subtitle แล้วพูดเลียนเสียงฝรั่งเลยค่ะ ฟังและพยายามพูด เมื่อถึงจุดนี้ ทำให้ I study UK นึกถึงประโยค “I will be back” (ฉันจะกลับมา) คำพูดของ Arnold Schwarzenegger จากหนังเรื่องคนเหล็ก The Terminator ที่เราพูดประโยคนี้กันได้ทั่วโลก โดยไม่ต้องนึกถึง Grammar กันเลยทีเดียว (เลยเป็นการเฉลยวัยของผู้เขียนและดร.ตี้กันทางอ้อมนะคะเนี่ย)

          ระหว่างการพูดคุยครั้งนี้ ทาง I study UK ได้แง่คิด ข้อคิด และแนวความคิดดี ๆ หลาย ๆ อย่างที่จะขอฝากได้ ทั้งคนที่จะเรียนต่อต่างประเทศ เรียนต่ออังกฤษ สหราชอาณาจักรหรือประเทศอื่น ๆ นะคะว่า เมื่อเรามีโอกาสได้ไปเรียนต่อแล้ว เราอย่าไปและคิดแค่เพียงว่า เราได้ไปประเทศนั้น แต่ขอให้เราถามตัวเองว่าเราไปเพื่ออะไร และต้องวางแผนให้ดีเพื่อให้ได้มาซึ่งประสบการณ์ชีวิตที่จะเป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคมค่ะ และที่สำคัญคือต้องมีความสุขกับชีวิตนะคะ

นิจจารีย์ เชาว์ประเสริฐกุล: ผู้สัมภาษณ์

ลลิดา แจ่มศิริพรหม : ผู้เรียบเรียง

ทีมงาน I Study UK เรียนต่อต่างประเทศ เรียนต่ออังกฤษและสหราชอาณาจักร